Banner
เนื้องอก

hc_diseasek_neoplasm

 

เนื้องอก (Tumor) คือ ก้อน ตุ่ม ที่โตขึ้นผิดปกติ เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเนื้องอกสามารถจำแนกได้ 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้าย หรือ มะเร็ง

โรคมะเร็ง (Cancer) ตามที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้อธิบายไว้นั้น เป็นโรคของเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ กลายเป็นก้อนมะเร็งซึ่งสามารถบุกรุกทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงและกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้

เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก จึงขยายขนาดกลายเป็นก้อนมะเร็งที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าไปเบียดเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นสูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่ตามปกติ นอกจากนี้ ก้อนมะเร็งที่โตขึ้นอาจขวางทางเดินโลหิต ทำให้เส้นเลือดอุดตัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดเนื้อร้ายต้องตายไปในที่สุด

เซลล์มะเร็งสามารถเบียดแทรกเข้าไปในเซลล์ที่อยู่รอบด้าน และสามารถแพร่กระจายลุกลามและแทรกเข้าไปในหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง แพร่สู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมะเร็งลุกลามสู่อวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ปอด และสมอง ก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น โรคมะเร็งจึงคร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จนได้ชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ทั้งนี้ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยได้รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2552 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งสูงถึง 5-6 หมื่นราย หรือประมาณเดือนละ 5 พันคน ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั่วโลกจะสูงถึง 84 ล้านคนในช่วงปี พ.ศ. 2548-2558

สำหรับปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งมีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย: ในปัจจุบัน ทางการแพทย์พบสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ (Carcinogen) มากกว่า 450 ชนิด อยู่ในรูปของอาหาร พืช และสารเคมีต่างๆ เช่น สารหนูซึ่งอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง ควันบุหรี่และสารเคมีในเขม่ารถที่มีสารทำให้เกิดมะเร็งปอด สารเคมีพวกอะโรมาติคไฮโดรคาร์บอน (Aromatic Hydrocarbon) ที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ สารไนโตรซามีน (Nitosamine) ที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ สารกายภาพต่างๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง รวมถึงรังสีต่างๆ อาทิ รังสีอุลตราไวโอเล็ตจากแสงแดด แสงเอ็กซเรย์ สารกัมมันตรังสี ก็เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ได้ ปัจจัยภายนอกร่างกายที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งยังรวมถึง จุลินทรีย์ เช่น ไวรัสตับอักเสบที่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งตับ รวมถึงพยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับเช่นกัน

สาเหตุภายในร่างกาย: มะเร็งบางชนิดมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมธัยรอยด์ ขณะเดียวกัน ความไม่สมดุลทางฮอร์โมนก็เป็นสาเหตุของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมในเพศหญิง และมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง หรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การระคายเคืองที่เกิดขึ้นช้าๆ เป็นเวลานาน รวมถึงภาวะทุพโภชนา ก็เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเช่นกัน

ในปัจจุบัน แนวทางการรักษาโรคมะเร็งมีมากขึ้น สำหรับวิธีการรักษาทางแผนตะวันตกหรือแผนปัจจุบันนั้น แพทย์มักใช้วิธีการรักษาโดยวิธีต่างๆ ดังนี้

การผ่าตัด (Resection) เป็นแนวทางการรักษาหลักหากสามารถกระทำได้ เช่น การผ่าตัดลำไส้ช่วงที่เป็นมะเร็งออก นอกจากนี้ กรณีที่โรคอยู่ในระยะลุกลาม การผ่าตัดจะช่วยผู้ป่วยบางรายให้อาการทุเลาลงได้

การฉายรังสี (Radiation) เป็นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแต่เพียงอย่างเดียว หรืออาจใช้เพื่อเสริมการรักษาโดยการผ่าตัดก็ได้ ทางการแพทย์มักจะใช้รังสีรักษาในตำแหน่งที่มีก้อนมะเร็งหรือต่อมน้ำเหลือง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้มีผลข้างเคียง เช่น เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ เป็นต้น

การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มี 2 รูปแบบ คือ แบบที่ใช้เสริมการรักษาโดยการผ่าตัด และแบบที่ใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีโรคลุกลามเกินกว่าที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดได้

สำหรับวิธีการรักษาทางแผนไทยหรือทางด้านสมุนไพรนั้น ได้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนายาที่ผลิตจากสมุนไพรเพื่อจะนำมาบำบัดโรคร้ายแรงเหล่านี้เช่นกัน ตัวอย่างพืชสมุนไพรไทยที่มีการวิจัยอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศไทยก็คือ ขมิ้นชันซึ่งมีสาร Curcumin มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถบรรเทาและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ เป็นต้น และล่าสุดนี้ กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยได้ยอมรับว่าในปัจจุบันมียาตำรับจากสมุนไพรไทยที่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ โดยทางอย. จะขึ้นทะเบียนให้เป็น “ยาแก้น้ำเหลืองเสีย” (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 พ.ค. 54)

ทั้งนี้ ในการตัดสินใจว่าจะเลือกรับวิธีการรักษาแนวทางใดนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและใช้ดุลพินิจของตนประกอบ พร้อมกับพิจารณาผลข้างเคียงและค่าใช้จ่ายจากการรักษาด้วยแนวทางต่างๆ ว่าสามารถยอมรับได้หรือไม่ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง: (1) วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, ศ.ดร. และ เกษม เที่ยงบูรณธรรม, นพ. โรคและการบำบัด (2) เอกสารวิจัย พล.ร.ท. สุวรรณ ตันสุวรรณรัตน์ วปอ. 2548

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก บริษัท กรุงเทพทิพโอสถ จำกัด

ยาประดง บริษัทกรุงเทพทิพโอสถ สรรพคุณแก้น้ำเหลืองเสีย

product_img1